064-645-5091    จันทร์ – อาทิตย์: 9.00 -17.00

     บำบัดยาเสพติดด้วยการนั่งสมาธิ (Mindfulness meditation)

 

การนำหลักพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้กับผู้บำบัดยาเสพติด

เพื่อให้รับรู้การอยู่กับตัวเอง รู้เท่าทัน ความคิด อารมณ์

 

การทำสมาธิคือ

 

     การทำสมาธิ คือการฝึกปฏิบัติที่ใช้ความตั้งมั่น จดจ่อ และแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติเกิดความสงบ เกิดความรู้สึกตัวหรือมีสติในการใช้ชีวิตมากขึ้น การทำสมาธินั้นปฏิบัติกันมานานนับพันปี โดยแรกเริ่มจะเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันทางศาสนา ตามหลักคำสอนหรือความเชื่อของแต่ละศาสนา ซึ่งปัจจุบันการทำสมาธินั้นแพร่หลายไปทั่วโลก โดยนำมาประยุกต์ใช้กับการบำบัดยาเสพติด เพื่อให้รับรู้การอยู่กับตัวเอง เป็นการฝึกสติให้อยู่กับปัจจุบัน เพื่อให้รู้เท่าทัน ความคิด อารมณ์ ความรู้สึกของตนเอง เมื่อปฏิบัติจนชำนาญขึ้น เมื่อมี ความคิด อารมณ์ พฤติกรรม ของเราเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้เราสามารถความคุมตัวเองได้ดีขึ้น ไม่กลับไปสู่วงจรเดิม

 

ประโยชน์ของการฝึกสติหรือการเจริญสติ (Mindfulness Meditation)

 

     การทำสมาธินอกจากจะเป็นการฝึกฝนจิตใจให้เกิดความสงบสุขแแล้ว ยังมีประโยชน์ในการช่วยบรรเทาโรคหรือภาวะทางร่างกายบางชนิดได้ โดยเฉพาะโรคที่ทรุดลงด้วยความเครียด ซึ่งปัจจุบันก็มีการศึกษาวิจัยถึงประโยชน์ของการนั่งสมาธิที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในทางกลับกันก็มีนักวิจัยบางคนที่ยังไม่ให้ข้อสรุปเกี่ยวกับประโยชน์ของการทำสมาธิแต่อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยบางส่วนพบว่า การทำสมาธิอาจมีส่วนช่วยจัดการกับอาการหรือโรคบางชนิดได้ การทำสมาธิอาจมีส่วนช่วยบรรเทาโรคหรือภาวะต่าง ๆ เช่น ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า พฤติกรรมการเสพติด เช่น ติดยา นิโคติน หรือแอลกอฮอล์ บรรเทาความเจ็บปวด อาการร้อนวูบวาบตามร่างกาย (Hot flashes) ของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน โรคหืด โรคมะเร็ง อาการปวดเรื้อรังโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคลำไส้แปรปรวน ปัญหาการนอนหลับ อาการปวดศีรษะจากความเครียด

 

การทำสมาธิกับสุขภาวะทางอารมณ์ (Emotional well-being)

 

     การทำสมาธิมีส่วนช่วยให้ภาวะทางอารมณ์ดีขึ้น เช่น ช่วยให้มีทัศนคติใหม่ ๆ ที่ดีขึ้น เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด เพิ่มความสามารถในการรับมือกับความเครียด ช่วยให้เกิดการรู้จักตนเอง ช่วยมุ่งความสนใจให้อยู่กับปัจจุบัน ลดอารมณ์หรือความคิดในแง่ลบ ช่วยเพิ่มจินตนาการและความคิดที่สร้างสรรค์ เพิ่มความอดทนอดกลั้น เพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้และการทำงาน เนื่องจากการทำสมาธิอาจทำให้อาการที่เกี่ยวข้องกับทางด้านร่างกายและจิตใจแย่ลงได้ในบางราย ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาถึงข้อดีและข้อเสียของการทำสมาธิในการรักษาโรคนั้น ๆ อย่างรอบคอบ นอกจากนั้น ควรตระหนักว่าการทำสมาธิไม่ใช่วิธีที่จะนำมาใช้ในการรักษาเพื่อทดแทนการรักษาทางการแพทย์ แต่เป็นเพียงวิธีที่อาจนำมาช่วยในการรักษาเพิ่มเติมเท่านั้น

 

การฝึกสติหรือการเจริญสติ (Mindfulness Meditation)

 

     เป็นวิธีฝึกทำสมาธิเพื่อให้เกิดสติ หรือมีความรู้สึกตัวและอยู่กับปัจจุบันขณะ ซึ่งผู้ปฏิบัติจะได้ฝึกให้ตนเองเกิดสติหรือรู้สึกตัวทั่วพร้อม ด้วยการสังเกตและจดจ่ออยู่กับอาการทางร่างกายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำสมาธิ เช่น ลมหายใจที่ผ่านปลายจมูก รวมไปถึงความคิดและอารมณ์ โดยวางใจเป็นกลาง เพียงแค่รับรู้และปล่อยวาง

 

วิธีฝึกสมาธิ

 

     การฝึกสมาธิมีมากมายหลายวิธี แต่มีสองวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ วิธีกำหนดจิตเป็นการรวบรวมจิตใจให้จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งมีเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ที่จะทำให้การฝึกนั่งสมาธิของผู้ปฏิบัติเป็นเรื่องง่ายสามารถลองปฏิบัติได้เอง มีขั้นตอนดังนี้

 

1. จัดท่าทางให้ถูกต้อง

     จริงอยู่ว่าคนส่วนใหญ่จะนั่งขัดสมาธิ เพื่อนั่งสมาธิได้ แต่การนั่งที่ถูกต้อง คือ ต้องแน่ใจว่านั่งตัวตรง หัวตรง นั่นเพราะร่างกายของเราสัมพันธ์กับจิตใจค่ะ หากนั่งตัวงอ จิตใจของก็จะล่องลอยไป ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว แต่ไม่ต้องนั่งเกร็งมาก ให้นั่งเหมือนเรากำลังผ่อนคลายดีที่สุด

2. เปิดตานั่งสมาธิ

     บางครั้งการนั่งสมาธิ ไม่จำเป็นต้องหลับตาเสมอไป สามารถเปิดตาไว้ แต่ปรับระดับสายตาให้มองต่ำลง โดยกำหนดจุดให้เพ่งรวบรวมสมาธิไว้ เพราะบางคนเมื่อปิดตาแล้วกลับรู้สึกฟุ้งซ่าน ในหัวสมองเต็มไปด้วยเรื่องราวต่างๆ อย่างไรก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าวิธีใดทำแล้วได้ผลมากกว่ากัน

3. กำหนดรู้ลมหายใจ

     การกำหนดลมหายใจเข้า-ออก เป็นการกำหนดที่ตั้งของสติ เพื่อให้จิตเราอยู่กับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่นๆ แต่เราไม่จำเป็นต้องไปบังคับการหายใจ แค่ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ

4. นับลมหายใจเข้า-ออก

     การนับลมหายใจเข้าออก เป็นวิธีปฏิบัติสมาธิมาตั้งแต่โบราณ โดยเมื่อหายใจออกก็ให้เริ่มนับ 1 ในใจ ต่อไปก็ 2 3 4 เป็นตามลำดับ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่าความคิดกำลังล่องลอยออกไปที่อื่น ให้กลับมาตั้งต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง เพื่อกำหนดจิตกลับมาที่เดิม

5. ควบคุมความคิดไม่ให้เข้ามารบกวน

     เมื่อรู้สึกว่ากำลังมีความ คิดเข้ามารบกวนจิตใจ ค่อยๆ ขจัดความคิดเหล่านี้ออกไป โดยหันมาสนใจกับการกำหนดลมหายใจ อย่าพยายามหยุดความคิดในทันที เพราะมันจะทำให้ฟุ้งซ่านและไม่สามารถกลับเข้าสู่สมาธิได้อีก

6. กำจัดอารมณ์ให้หมดสิ้น

     มันเป็นเรื่องยากที่เราจะนั่งสมาธิในขณะที่จิตเต็มไปด้วยอารมณ์ เพราะอารมณ์จะทำให้เกิดเรื่องราวต่างๆ ในจิตใจ โดยเฉพาะอารมณ์โกรธ กลัว เสียใจ ซึ่งไม่ได้ทำให้อยู่กับปัจจุบัน หรืออยู่กับสิ่งที่เป็นในตอนนี้เลย ให้จัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นนี้โดยกำหนดลมหายใจไปที่ความรู้สึกของร่าง กายที่ควบคุมอารมณ์ส่วนนั้น เพราะจะทำให้ไม่คิดถึงเรื่องราวที่ทำให้กลัว หรือโกรธอีก แต่หันมาเพ่งกับสิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้แทน

7. ความเงียบบ่อเกิดแห่งความสงบ

     การนั่งสมาธิควรจะนั่งในที่เงียบๆ เพื่อทำจิตให้ว่าง ไม่ใส่ใจถึงบุคคล เสียง หรือสิ่งอื่นที่อยู่โดยรอบ เพราะความเงียบจะนำมาซึ่งความสงบเยือกเย็น และความรู้สึกมั่นคง เมื่อไหร่ก็ตามที่ความเงียบภายนอกและภายในประสานกันได้ ก็จะรู้สึกได้พักกายพักใจ ผ่อนคลายจากความคิดที่รบกวนอยู่ตลอดมา

8. เวลาในการนั่งสมาธิ

     เมื่อเริ่มต้นนั่งสมาธิในช่วงแรก อาจจะลองนั่งก่อนประมาณสัก 10 นาที และจึงค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าจิตเริ่มนิ่งมากขึ้น แต่อย่าบังคับตัวเองให้นั่งนานเกินไปหากยังไม่พร้อม ทั้งนี้ ระยะเวลาที่เหมาะ คือประมาณ 25 นาที เพราะเป็นระยะเวลาที่ไม่ทำให้รู้สึกปวดเมื่อยร่างกายเกินไปจนรบกวนสมาธิได้

9. สถานที่ในการนั่งสมาธิ

     สถานที่และบรรยากาศก็ช่วยให้ทำสมาธิได้ดีขึ้น ซึ่งการนั่งสมาธิในห้องพระจะช่วยให้จิตใจสงบและรู้สึกเป็นสมาธิมาก หรืออาจจะวางสิ่งเล็กๆ ที่เราชอบ หรือช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายไว้รอบๆ ที่นั่งสมาธิก็ได้

10. มีความสุขไปกับการนั่งสมาธิ

     คนเราหากทำอะไรแล้วมีความสุข เราก็จะทำมันได้ดี และรู้สึกอยากทำต่อไป ในการนั่งสมาธิก็เช่นกัน หากเรามีความสุขในการนั่งสมาธิ ก็จะรู้สึกผ่อนคลายสบายตัวและอยากจะทำต่อไป จนสามารถทำเป็นกิจวัตรที่ทำทุกวันได้

 

นอกจากมีวิธีการฝึกสติหรือการเจริญสติ (Mindfulness Meditation)

 

     ยังมีวิธีการผ่อนคลายที่มีการทำสมาธิเป็นส่วนประกอบมีหลายวิธี โดยทุกวิธีจะมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความสงบและความสันติสุขภายในจิตใจ วิธีที่ทำเพื่อให้เกิดสมาธิมีหลายวิธี ได้แก่

1. วิธีทำสมาธิด้วยมโนภาพ (Guided Meditation) หรือการสร้างมโนภาพ (Visualization) เป็นวิธีที่จะให้ผู้ปฏิบัตินึกภาพหรือสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความผ่อนคลาย โดยอาจใช้สิ่งกระตุ้นประสาทสัมผัสต่าง ๆ เช่น กลิ่น ภาพ สัมผัสและเสียงประกอบ ซึ่งอาจมีผู้สอนหรือผู้ที่ชำนาญนำการปฏิบัติ

2. มันตราสมาธิบำบัดหรือการสวดมนต์ (Mantra Meditation) เป็นวิธีที่จะให้ผู้ปฏิบัติท่องบทสวด วลี หรือคำ ซ้ำ ๆ เสมือนเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความคิดที่ฟุ้งซ่านหรือกวนใจ และทำให้เกิดสมาธิ

3. ชี่กง (Qi gong) คือ วิธีฝึกฝนของชาวจีนที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เป็นวิธีการฝึกที่ผสมผสานระหว่างการทำสมาธิ การผ่อนคลาย การเคลื่อนไหวของร่างกาย และการหายใจประกอบกัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาและฟื้นฟูให้ร่างกายกายและจิตใจเกิดความสมดุล

4. ไทชิ (Tai chi) ศิลปะการต่อสู้ของจีน เป็นการฝึกฝนด้วยท่วงท่าที่มีการเคลื่อนไหวช้า ๆ นุ่มนวลและสง่างามพร้อมกับฝึกการหายใจ

5. การฝึกสมาธิแบบ Transcendental Meditation หรือ TM เป็นการฝึกทำสมาธิด้วยการท่องคำหรือวลีที่ได้รับจากผู้สอน ซึ่งการฝึกวิธีนี้จะช่วยให้ร่างกายได้ปรับเข้าสู่สภาวะของการพักผ่อนอย่างเต็มที่ และช่วยให้จิตใจเกิดความสงบ โดยที่ไม่ต้องใช้ความพยายามหรือความเข้มข้นในการฝึกมาก

6. โยคะ (Yoga) เป็นการฝึกชุดท่าท่างพร้อมกับฝึกการหายใจ เป็นวิธีปฏิบัติที่จะช่วยให้ร่างกายเกิดความยืดหยุ่นและแข็งแรง และช่วยให้ใจสงบและเกิดสมาธิ

     ดังนั้นการฝึกสติ การเจริญสติ และสมาธิ มีประโยชน์มากมายไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกาย จิตใจ ความคิด และพฤติกรรม ทางศูนย์บำบัดยาเสพติด Day one Rehabcenter ได้เห็นความสำคัญของการฝึกสติหรือการเจริญสติ (Mindfulness Meditation) และนำมาปรับใช้ในการบำบัดกับผู้เข้าบำบัดยาเสพติด ผ่านการบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญ และการอยู่ในสถานที่บำบัดที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จะช่วยฟื้นฟูผู้บำบัดให้รู้เท่าทัน ความคิด อารมณ์ ความรู้สึกของตนเอง เมื่อปฏิบัติจนชำนาญขึ้น เมื่อมี ความคิด อารมณ์  พฤติกรรม ของเราเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้เราสามารถความคุมตัวเองได้ดีขึ้น และไม่กลับไปสู่วงจรเดิม

 

อ้างอิง

บทความ คุณภาพชีวิต สมาธิสำหรับทุกคน จากหนังสือ Reader Digest ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2554.