ให้ลองจินตนาการว่า สมมุติว่าคุณชอบกินขนมหวานมาก แต่คุณก็เป็นเบาหวาน และน้ำหนักเกิน ซึ่งจำเป็นต้องหยุดกินของหวาน ในวันแรกที่คุณหยุดกินคุณอาจจะห้ามใจได้ วันที่สองเมื่อคุณเดินผ่านร้านขนมเค้กร้านโปรด คุณเริ่มจะทนไม่ไหว วันที่สามคุณเดินผ่านร้านไอศกรีมคุณรู้สึกอยากกินมาก แต่คุณก็รีบกลับบ้านเพื่อจะได้ไม่ต้องรู้สึกโหยหา พอตกดึกคุณรู้สึกอยากกินของหวานอย่างมากจึงสั่งไอศกรีม 2 ถ้วยมากินในวันนั้นเลย โดยบอกตัวเองว่า “หยุดกินมา 3 วันแล้ว กินมื้อนี้มื้อเดียวคงไม่เป็นไร” คุณกินมันอย่างเอร็ดอร่อย พอหลังจากที่คุณกินมันจนหมด คุณเริ่มรู้สึกแย่กับตัวเอง แล้วก็ล้มเลิกความตั้งใจที่จะลดน้ำหนัก คิดว่า “ฉันคงทำไม่ได้หรอก กลับไปกินของหวานแบบเดิมก็คงไม่เป็นไร ตอนนี้ก็ยังไม่ได้เจ็บป่วยอะไรมาก เดี๋ยวค่อยลดน้ำหนักใหม่ก็ได้” ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนที่ติดยาเสพติด แต่ว่าความอยากยาของเขาอาจมากกว่าความอยากกินขนมหวานของคุณเป็นร้อยเท่า นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมบางเหตุกาณ์ที่เรารู้ทั้งรู้ว่ามันไม่ดี แต่เราก็ยังทำมัน
อาการอยากยา หรือภาษาอังกฤษ เรียกว่า “craving” เป็นอาการที่บ่งบอกว่าผู้เสพยาเสพติดมีภาวะสมองติดยา หรือกล่าวคือการเสพติดที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากแค่นิสัย หรือพฤติกรรมที่เคยชิน แต่ได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของสมองส่วนอยาก (Brain reward pathways) ทำให้ผู้เสพหมกมุ่น คิดถึงสารเสพติดอยู่ตลอดเวลา สมองของผู้ติดยาเสพติดจะไม่ค่อยตอบสนองกับสิ่งกระตุ้นให้เกิดความสุขตามธรรมชาติ (natural rewards) เช่น การกินอาหารอร่อย การฟังเพลง การพบปะกับผู้คน ท่องเที่ยวพักผ่อน ผู้ที่ติดยาก็จะไม่ได้รู้สึกมีความสุขเท่าไหร่ แต่สมองจะตอบสมองอย่างรุนแรงเมื่อเจอตัวกระตุ้นที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เช่น ไปในสถานที่ที่เคยเสพ กินอาหารที่เคยกินพร้อมกับตอนใช้สาร ไปเจอเพื่อนที่เคยเสพด้วยกัน หรือได้เสพยาเสพติด ผู้เสพจะรู้สึกมีความสุขอย่างมาก กลไกเหล่านี้ทำให้ผู้ติดยาเลิกเสพยาเสพติดได้ยากได้
ศาสตราจารย์จอน กาบัต-ซินน์ (Jon Kabat-Zinn) ผู้ริเริ่มการบำบัดโดยการ ฝึกสติเพื่อลดความเครียด (mindfulness-based stress reduction (MBSR)) ได้เปรียบเทียบการฝึกสติเพื่ออดทนต่ออาการอยากยาเสพติดว่าเหมือนกับการเล่นกระดานโต้คลื่น โดยความอยากยาเสพติดนั้นเปรียบเสมือนกับคลื่น เราไม่สามารถห้ามมันได้ แต่มันก็มีขึ้นมีลง ตัวของคุณมีหน้าที่ประคองตัวเองให้อยู่บนกระดานโต้คลื่นให้ได้ โดยไม่จมหายไปกับคลื่น ก็เหมือนกับการที่คุณประคองตัวเองให้ดำเนินชีวิตไปแต่ละวันได้โดยไม่เสพยาเสพติด แล้วคลื่นหรือความอยากนั้นก็จะค่อยๆหายไปเอง ดังคำกล่าวของ ศาสตราจารย์ จอน กาบัต-ซินน์ ที่ว่า “ You cannot stop the waves, but you can learn to surf ”.
อุปนิสัยแห่งการมีสติ
การมีสติเหมือนอุปนิสัยชนิดหนึ่งที่สามารถฝึกฝนให้เคยชินได้ เราสามารถฝึกฝนตนเองให้มีสติที่เข้มแข็งได้โดยมีความเพียรในการฝึกฝนให้ตนเองมีอุปนิสัยแห่งสติ อุปนิสัยแห่งการมีสติประกอบด้วยลักษณะ ดังต่อไปนี้
1. การเฝ้าติดตามสังเกต (Observing)
2. การบรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจออกมาเป็นคำพูด (Describing)
3. การอยู่กับกิจกรรมในปัจจุบัน (Participating)
4. การไม่ตีคุณค่า (Non-judgmentally)
5. การทำสิ่งเดียวในขณะหนึ่งๆ (One-mindfully)
6. การพิจารณาเหตุปัจจัยที่ก่อผล (Effectively)
ลักษณะอุปนิสัยแห่งการมีสติ
การเฝ้าติดตามสังเกต (Observing)
1. เฝ้าสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจ มองอย่างใจเป็นกลาง ไม่กระโดดลงไปร่วมกับสิ่งนั้นๆ ไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ใดๆ
2. ปล่อยให้ความคิด อารมณ์ สิ่งต่างๆผุดขึ้นในใจโดยไม่ได้ตั้งใจคิด
3. ปฏิบัติตนเหมือนยามเฝ้าประตู ตื่นตัวกับทุกความคิดที่ผ่านเข้าออก ไม่ห้ามปรามและ ไม่ยึดติด
4. เฝ้าสังเกตธรรมชาติของความคิด และความรู้สึกที่เกิดขึ้นว่ามัน “ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้ว ดับไป ”
5. เฝ้าสังเกตว่าเรามีปฏิกิริยาอย่างไรกับมัน เฝ้าสังเกตสิ่งที่รับรู้ได้จากประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ ภาพที่เห็นทางตา เสียงที่ได้ยิน ทางหู กลิ่นที่ดมทางจมูก รสที่ได้ลิ้มทางลิ้น และสัมผัสที่ได้จากทางร่างกาย เฝ้าสังเกตว่าเรามีปฏิกิริยาอย่างไรกับมัน
การบรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจออกมาเป็นคำพูด (Describing)
1. ใส่คำพูดลงไปในประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในจิตใจ เมื่อความรู้สึกหรือความคิดเกิดขึ้น ให้ รู้สิ่งที่เกิดขึ้น เช่น พูดในใจ “โกรธหนอ“ “ปวดหนอ” “อยากสุรายาเสพติดหนอ“ “ความคิดว่าฉันไม่สามารถทำได้กำลังเกิดขึ้นหนอ” “ความคิดว่าฉันไม่เก่งกำลังเกิดขึ้นหนอ” “ความคิดว่าฉันถูกจับผิดกำลังเกิดขึ้นหนอ” “ฉันกำลังหลอกตนเองหนอ” เป็นต้น
2. บรรยายประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในจิตใจออกมาเป็นคำพูด พยายามอธิบายว่าอะไรกำลัง เกิดขึ้นในจิตใจ หาคำมาบรรยายความรู้สึก รู้ความคิดว่ามันเป็นความคิด รู้อารมณ์ว่ามันเป็นอารมณ์ แต่อย่าไปยึดติดกับความคิดหรืออารมณ์นั้น
การอยู่กับกิจกรรมในปัจจุบัน (Participating)
1. ลงไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรม มีสติอยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ปัจจุบัน ปล่อยวางความคิด วิตกกังวล เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น การฝึกขับขี่จักรยาน เป็นต้น
2. เป็นธรรมชาติและทำตามที่ปัญญาหยั่งรู้ว่า อะไรที่ควรทำอะไรที่ไม่ควรทำในเหตุกา รณ์นั้นๆ
3. ฝึกฝนในสิ่งที่ตนเองเรียนรู้มาจนชำนาญเกิดเป็นทักษะและกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรา
การไม่ตีคุณค่า (Non-judgmentally)
1. พิจารณาแต่ไม่ตีคุณค่า มองอย่างไม่ตีคุณค่า พิจารณาข้อเท็จจริง มุ่งที่เนื้อหา ไม่ใช่มุ่งที่ว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี เป็นสิ่งเลวร้ายหรือสิ่งดีเลิศ หรือเป็นสิ่งที่ควรหรือไม่ควร
2. ไม่ต้องให้ความคิดเห็นต่อข้อเท็จจริง หรือว่าเป็นใคร เป็นอะไร เมื่อไร และที่ไหน
3. ยอมรับทุกๆสิ่งในทุกขณะจิต
4. รู้ถึงความดี ความเป็นประโยชน์ แต่ไม่ตัดสินตีคุณค่าของมัน รู้ถึงความไม่ดี ความไม่เป็นประโยชน์ แต่ไม่ตัดสินตีคุณค่าของมัน
5. หากพบว่าตนเองกำลังตัดสินตีคุณค่า ก็อย่าตัดสินการที่ตนเองตีคุณค่า
กระทำสิ่งเดียวในขณะหนึ่งๆ (One-mindfully)
1. ทำทีละอย่างในขณะหนึ่งๆ เมื่อคุณกำลังรับประทานอาหาร คุณก็รับประทานอาหาร เมื่อคุณกำลังเดิน คุณก็เดิน เมื่อคุณสนทนาอยู่ในกลุ่ม คุณก็มุ่งความสนใจทุกขณะจิตในสิ่งที่สนทนากับคนคนนั้น
2. หากมีกิจกรรมอื่น ความคิดอื่น หรือ อารมณ์ที่รุนแรงอื่นๆมาเบี่ยงเบนคุณ จงฝึกปล่อยวางสิ่งที่มาเบี่ยงเบนคุณไป และกลับมามุ่งความสนใจในสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ ฝึกซ้ำแล้วซ้ำเล่า
3. ฝึกจิตใจให้มีสมาธิ หากคุณพบว่าคุณกำลังทำสองอย่างในเวลาเดียวกัน หยุดทำอย่างนั้นแล้วกลับมาทำทีละอย่างในเวลาหนึ่งๆ
การพิจารณาเหตุปัจจัยที่ก่อผล (Effectively) เป็นอุปนิสัยของการใช้ทั้งสติและปัญญา
1. มุ่งไปที่เหตุปัจจัยที่ก่อผล สร้างเหตุปัจจัยที่ก่อผลในเหตุการณ์นั้นๆ หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ยุติธรรมหรือ ไม่ยุติธรรม สิ่งถูกหรือสิ่งผิด สิ่งที่ควรหรือไม่ควร
2. กระทำอย่างเต็มความสามารถเท่าที่คุณจะกระทำได้ เพื่อให้บรรลุถึงเหตุปัจจัยที่ก่อผลในสถานการณ์จริงนั้นๆที่คุณกำลังประสบอยู่ ไม่ใช่สถานการณ์ที่คุณอยากให้เป็น ไม่ใช่สถานการณ์ที่คุณจะรู้สึกสบายขึ้น
3. มุ่งไปที่วัตถุประสงค์ของคุณต่อสถานการณ์นั้นๆ และสร้างเหตุปัจจัยที่ก่อผลให้ประสบความสำเร็จในสิ่งนั้นๆ
4. ปล่อยวางความพยาบาท ความโกรธที่ไม่ก่อประโยชน์ ความชอบธรรมที่คอยทำร้ายคุณและไม่ก่อผลใดๆ
1. การกำหนดลมหายใจเข้าออก เป็นการกำหนดรู้ที่ลมหายใจเข้าออก ลมหายใจยาวก็รู้ว่ายาว ลมหายใจสั้นก็รู้ว่าสั้น หรือรู้สัมผัสกับจมูกหรือผนังโพรงจมูกขณะหายใจเข้าและออก อาจนับเลขในใจร่วมไปด้วย หรือใช้คำว่า “พุท” ขณะหายใจเข้า “โธ” ขณะหายใจออก
2. การกำหนดยุบ-พอง การกำหนดที่การเคลื่อนไหวของผนังหน้าท้อง โดย ผนังหน้าท้องพอง ในขณะหายใจเข้า กำหนดรู้ว่า “พอง” ผนังหน้าท้องยุบ ในขณะหายใจออก กำหนดรู้ว่า “ยุบ”
3. การเคลื่อนไหว เช่น การเดินจงกรม การเคลื่อนไหว 16 จังหวะ การคลึงนิ้ว การรู้อยู่กับอิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน เป็นต้น เป็นการกำหนดรู้อยู่ที่สัมผัสทางกายที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหว
4. การฟังเพลง อาจใช้เพลงบรรเลงที่ไม่มีเสียงร้อง กำหนดรู้ที่เสียงเพลง ไม่ได้คิดปรุงแต่งต่อเติม เพียงแต่เฝ้ามองสิ่งที่เกิดขึ้นในใจ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป
5. การพิจารณาถึงกายซึ่งประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ เป็นที่รวมของสิ่งปฏิกูลต่างๆ เช่น ผม ขน หนัง น้ำเหลือง น้ำลาย เสลด เหงื่อไคล ไขมัน เศษอาหาร ปัสสาวะ และอุจจาระ เป็นต้น และยังมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ไม่ติดอยู่ในสมมติบัญญัติ เพื่อเห็นเข้าใจตามความเป็นจริงและไม่ยึดมั่นถือมั่น
6. การเฝ้าดูความคิด อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิตใจ เฝ้ามองมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
7. การกำหนดอิริยาบถในกิจวัตรประจำวัน เลือกกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่จะใช้สนการฝึก เช่น การอาบน้ำ ซักผ้า ล้างจาน แปรงฟัน เป็นต้น ให้กำหนดรู้อยู่กับความเคลื่อนไหวในปัจจุบัน หากจิตวอกแวกออกไป ก็ดึงกับมาที่กิจกรรมในปัจจุบัน ไม่ต้องหงุดหงิดต่อว่าตนเอง ทำอย่างช้าๆ ไม่ต้องเร่งรีบ กิจกรรมเหล่านี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการฝึก ไม่เน้นที่ผลงาน แต่เน้นที่การฝึก
หากคุณเสพสารเสพติดชนิดที่รุนแรง เช่น ยาบ้า ไอซ์ กัญชา เฮโรอีน โคเคน เคตามีน หรือเสพมายาวนาน อาการอยากยาเสพติดของคุณอาจรุนแรงและไม่สามารถควบคุมด้วยตัวเองได้ อีกตัวช่วยหนึ่งคือการรักษาด้วยยาร่วมด้วย ยาปรับอารมณ์สามารถใช้ลดความอยากยาเสพติด ทำให้อารมณ์นิ่งขึ้น และลดพฤติกรรมเสพติดยาได้ หากคุณกำลังดิ้นรนกับการเลิกเสพยา คุณไม่จำเป็นต้องต่อสู้เพียงลำพัง คุณสามารถพูดคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประวัติการรักษาที่ประสบความสำเร็จ ที่จะสามารถช่วยให้คุณเอาชนะการเลิกยาได้
สำหรับใครที่ต้องการเลิกยาเสพติดหรือบำบัดยาเสพติด อย่าลังเลเลย รีบมารักษา เพื่ออนาคตที่สดใสกลับมาอีกครั้ง Day One Rehabilitation Center สถานบำบัดยาเสพติดแบบอยู่ประจำ โดยมีโปรแกรมบำบัดยาเสพติดที่ดีต่อสุขภาพจิตใจและสุขภาพของผู้บำบัดยาเสพติดอย่างเหมาะสม เช่น นั่งสมาธิ รับรู้การอยู่กับตัวเอง (Mindfulness Meditation), ดนตรีบำบัด (Music Therapy) เพื่อช่วยลดความเครียดและวิตกกังวล, ออกกำลังกายบำบัด (Exercise Therapy) ลดความหมกมุ่นและอาการเสพยาได้ดี, ศิลปะบำบัด (Art Therapy) เยียวยาด้วยการใช้ศิลปะ, ทำอาหารบำบัด (Cooking Therapy) ช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลในใจ, ทำสวนบำบัด (Gardening Therapy) ช่วยเสริมสร้างให้มีพลังด้านบวก มีความสงบในจิตใจเพิ่มมากขึ้น และครอบครัวบำบัด (Family Therapy) ช่วยให้สมาชิกในครอบครัวเข้าใจผู้บำบัดยาเสพติดเพิ่มมากขึ้น
ติดต่อเรา
99/1 หมู่ 6 ตำบล ศรีจุฬา อำเภอ เมืองนครนายก จังหวัด นครนายก 26000
064-645-5091
[email protected]
จันทร์ – อาทิตย์: 9.00 -17.00