064-645-5091 จันทร์ – อาทิตย์: 9.00 -17.00 , Monday – Sunday: 9:00 AM - 5:00 PM
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2564 ซึ่งจะมีผลวันที่ 24 สิงหาคม 2564 เป็นการปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ ทำให้ประชาชนสามารถปลูกและขายได้
แต่อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกำชับให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) เร่งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนทราบถึงข้อกฎหมายว่า ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ประชาชนสามารถปลูกและบริโภคกระท่อมตามวิถีชาวบ้าน รวมทั้งยังซื้อหรือขายใบกระท่อมโดยไม่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หากมีการนำไปผสมยาเสพติดอื่นๆ เช่น 4×100 เป็นความผิดตามกฎหมาย สำหรับการนำเข้าหรือส่งออกไปต่างประเทศในเชิงอุตสาหกรรมนั้นต้องขออนุญาตก่อน ควบคู่ไปกับการบำบัดโดยนำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการรักษาที่เหมาะสม ขณะเดียวกันต้องรณรงค์สร้างการรับรู้และภูมิคุ้มกันในกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย
มีการใช้ใบกระท่อมตามท้องถิ่นทั้งในประเทศไทย และประเทศเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ลาว เมียนมาร์ มาเลเซีย มายาวนาน โดยการนำใบกระท่อมสดมาเคี้ยว ซึ่งจะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ผู้ใช้รู้สึกสดชื่น มีแรง ตื่นตัว ลดอาการอ่อนเพลีย คล้ายกับการดื่มกาแฟ อีกรูปแบบหนึ่งคือการนำใบกระท่อมมาต้ม และดื่มน้ำต้มกระท่อม หรือที่ชาวบ้านตามท้องถิ่นเรียกว่า "น้ำท่อม" มักนำมาดื่มเพื่อลดอาการปวดเมื่อยร่างกาย และ ทำให้รู้สึกผ่อนคลายเคลิบเคลิ้ม
โทษหรือผลข้างเคียงจากการเสพใบกระท่อมมากเกินไป
ฤทธิ์ของกระท่อมจะเป็นสารกระตุ้นประสาท ทำให้เกิดอาการเคลิ้มสุข และลดอาการปวด เนื่องจากกระท่อมออกฤทธิ์คล้ายสารอนุพันธ์ฝิ่น รูปแบบที่ถูกนำมาใช้มีหลายรูปแบบ เช่น นำใบสดมาเคี้ยวเพื่อกระตุ้นให้รู้สึกตื่นตัวคล้ายกับการดื่มกาแฟ และลดอาการปวดเมื่อย หรือนำใบมาตากแห้งแล้วต้มดื่มลักษณะเหมือนใบชา หรือ นำมาสกัดบดเป็นผงใส่แคปซูลเป็นรูปแบบยาสมุนไพร
สารประกอบหลักที่พบในใบกระท่อม คือ ไมทราไจนีน (mitragynine), 7-hydroxymitragynine (7-OH- mitragynine) ซึ่งสารไมทราไจนีน จะไปออกฤทธิ์ต่อสมองคล้ายกับสารอนุพันธ์ฝิ่น แต่เนื่องจากกระท่อมเป็นพืชที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทจึงทำให้เกิดอาการเคลิ้มสุข ลดอาการปวด แต่ก็ทำให้เกิดการเสพติดได้เช่นกัน ซึ่งหมายความว่าเมื่อหยุดเสพจะทำให้เกิดอาการถอน (Withdrawal symptom) เช่น ปวดเมื่อย ปวดกล้ามเนื้อปวดกระดูก รู้สึกง่วงซึม อ่อนเพลีย ไม่มีแรง อารมณ์ซึมเศร้า จากการศึกษาพบว่ามีผู้ป่วยที่ใช้กระท่อมแล้วทำให้เกิด ไตวายเฉียบพลัน ตับอักเสบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ กดการหายใจ ระบบการหายใจ โดยภาวะตับอักเสบจากสารประกอบในกระท่อม เป็นภาวะที่พบบ่อยที่สุด
นอกจากนี้ในประเทศไทยยังมีการแพร่ระบาดของการนำไปเสพในทางที่ผิด อาจเนื่องมาจากใบกระท่อมหาได้ง่าย มีราคาถูกและทำให้เกิดอาการเคลิ้มสุขได้เช่นเดียวกับสารเสพติดอื่น โดยมักนิยมนำน้ำกระท่อมต้ม ผสมกับน้ำอัดลม ยาแก้ปวด Tramadol ยากันยุง และยาแก้ไอ ซึ่งผู้เสพจะเรียกการนำน้ำกระท่อมมาผสมสารเสพติดชนิดอื่นๆนี้ว่า 4×100 (สี่คูณร้อย) การนำสารเสพติดหลายชนิดมาผสมกันจะทำให้เกิดการเสพติดและอาการถอนที่มากขึ้น อันตรายต่อร่างกายและสมองจึงรุนแรงขึ้นตามมา ยกตัวอย่างเช่น ยาแก้ปวด Tramadol สามารถทำให้ชัก หมดสติ และเสียชีวิตได้
โดยสรุปการจะนำกระท่อมมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น คุณสมบัติลดอาการปวด ยังต้องการวิจัยที่น่าเชื่อถือเพิ่มเติม เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการวิจัยที่ระบุได้ว่าปริมาณความเข้มข้นของสารที่สกัดได้จากใบกระท่อมควรจะมีปริมาณเท่าไหร่ที่จะไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย อีกทั้งสารจากใบกระท่อมยังทำให้เกิดการเสพติดและเป็นพิษต่อร่างกายได้อีกด้วย รวมทั้งใบกระท่อมยังไม่มีข้อบ่งชี้หรือสรรพคุณในการรักษาโรคอื่น ๆ อีกด้วย
อย่างไรก็ตามเมื่อคุณหรือคนใกล้ชิดเสพกระท่อมที่เกินกว่าการนำมาใช้เพื่อรักษาทางการแพทย์แล้ว ย่อมทำให้เกิดการเสพติดจนมีผลให้เกิดโทษต่อตัวเองและคนรอบข้าง ดังนั้นจึงควรได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อให้สามารถเลิกเสพติดกระท่อมได้ DAY ONE REHABILITATION CENTER ศูนย์บำบัดยาเสพติด จะช่วยให้คำแนะนำและบำบัดรักษาผู้ที่ติดสารเสพติด ดูแลตลอดการเข้าบำบัด โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาจัดกิจกรรมการบำบัดแบบต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพื่อสร้างสมดุลใหม่ในชีวิต ให้คุณได้กลับไปใช้ชีวิตอย่างมั่นใจและมีความสุข
ที่มา: Kratom—Pharmacology, Clinical Implications, and Outlook: A Comprehensive Review Steven C. Eastlack . Elyse M. Cornett . Alan D. Kaye
ติดต่อเรา
99/1 หมู่ 6 ตำบล ศรีจุฬา อำเภอ เมืองนครนายก จังหวัด นครนายก 26000
จันทร์ – อาทิตย์: 9.00 -17.00